Skip to content

แบ่งงานใหญ่ เป็นงานย่อย ด้วย Puzzle-Driven Development

เขียนโดย: Thai Pangsakulyanont

ปกติเวลาทำ Software เราก็มักจะแบ่งงาน และดูความคืบหน้าโดยการนำ Project management tool เข้ามาช่วย ในขณะเดียวกัน ส่วนที่ยังเขียนไม่เสร็จ ก็มักจะใส่คอมเม้นต์ // TODO ไว้ ซึ่งปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะกับโปรเจกต์ที่มีเวลาน้อย คือ

  • โฟกัสกับการทำงานจนลืมมาอัพเดตสถานะกัน กลายเป็นไม่มีใครรู้ว่าตกลงงานไหนทำถึงไหนไปแล้ว
  • พองานมันใหญ่ก็หายไปนาน เสร็จแล้วก็ส่งโค้ดชุดใหญ่มาตู้มเดียว แล้วก็เกิด Merge conflict กระจาย นอกจากนี้ปัญหาการรวมโค้ด แต่ละคนก็เขียนโค้ดไปคนละทิศคนละทางกัน ไม่สามารถส่งงานต่อกันได้
  • เขียน TODO comment ทิ้งไว้ แล้วก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่มีใครมาทำอะไรกับมันต่อ ทิ้งไว้เป็นปี แล้วค่อยมาแก้ตอนเกิดวิกฤต เหมือนเป็นระเบิดเวลา

Puzzle Driven Development ช่วยให้เราสามารถปิด 100 issue ได้ภายใน 8 วัน

Puzzle Driven Development เป็นเทคนิคการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่คิดค้นโดย Yegor Bugayenko ซึ่งเหมาะสำหรับทีมที่มีการกระจายตัวมาก ไม่สามารถมาเจอหน้ากันได้ตลอดเวลา (XDSD: eXtremely Distributed Software Development)

ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นสถานการณ์ที่ทีม ELECT Live! กำลังเผชิญอยู่ คือมีเวลาแค่ 8 วัน และอาสาสมัครนักพัฒนาแต่ละคน ก็อยู่กันคนละบริษัท บางทีก็คนละจังหวัด บางทีก็คนละประเทศ

สำหรับโปรเจกต์นี้ผมจึงลองนำ Puzzle Driven Development มาใช้ดู ซึ่งก็ได้ผลดีเกินคาด — ภายใน 8 วันนี้เราปิด Issue ไปนับร้อย


แปลง TODO เป็น Issue

สมมุติว่าคุณต้องขึ้นหน้าเว็บ แล้วคุณมีเวลาอยู่แค่ 1 ชั่วโมง คุณจะทำยังไง?

สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือ ก็เขียนโค้ดเท่าที่ทำได้ แล้วตรงไหนที่ยังทำไม่เสร็จก็ใส่ TODO ไว้

ตัวอย่างเช่น ตอนแรกที่ผมทำ Navigation Bar ผมพัฒนาใน Desktop ก็เลยยังไม่ได้ทำให้มันใช้ในมือถือได้ แต่เราก็รู้ตัวว่ามันยังไม่เสร็จ ก็ใส่ // @todo ไว้ ว่าตอนนี้หน้าเว็บยังไม่เป็น Responsive และควรจะแก้

js
import React from "react"
import "../styles/global.css"
import GlobalPanel from "./GlobalPanel"
import NavBar from "./NavBar"

// @todo #1 Implement responsive layout and navigation
export default function Layout({ children }) {
    return (
    <React.Fragment>
        <div css={{ margin: "13px 16px" }}>

ทันทีที่ผม Push โค้ดนี้ขึ้นไปบน GitHub จะมีบอท 0pdd ที่จะเข้ามาสแกนโค้ด แล้วหา // @todo เพื่อเอาไปสร้างเป็น issue

ภายหลัง เมื่อผมกลับมาทำ Navigation Bar ให้มันเป็น Responsive ได้แล้ว พอผมเอา // @todo ออก บอท 0pdd ก็จะมาปิด Issue ให้โดยอัตโนมัติ

พูดง่าย ก็คือ เราจัดการงานกันผ่านคอมเม้นต์ // @todo ที่อยู่ในโค้ด คือให้ Source of truth ของงานที่จะต้องทำ อยู่ในตัวโค้ดไปเลย แล้วใช้ GitHub Issue เป็นตัวรายงานภาพรวมแล้วมีอะไรที่ต้องทำบ้าง และใช้สื่อสารกันภายในตัวงาน

นอกจากนี้หากเราใช้ GitHub Projects แล้วตั้งระบบ Automation ไว้ เราจะสามารถดูความคืบหน้าของโปรเจ็คได้เลย

การใช้ PDD ช่วยให้แตกงานได้อย่างละเอียด

ตอนที่ผมทำ Layout หน้าเว็บ แทนที่ผมจะขึ้นเว็บทั้งหน้า ผมก็สร้างโครงแบบนี้ไว้แทน แล้วใส่คอมเม้นต์ // @todo เข้าไป

เท่านี้ 1 งานใหญ่ ก็ถูกแตกออกเป็น 7 งานย่อย ที่สามารถทำไปพร้อมกันได้ และคนอื่นสามารถมาช่วยได้ด้วย

จำกัดเวลาทำงานของแต่ละทาส์ก เพื่อให้สามารถแตกงานได้ดีขึ้น

หากเราต้องใช้เวลากับงานงานนึงมากจนเกินไป บางทีมันอาจจะหมายความว่า งานนั้นมันใหญ่เกินไป และควรจะย่อยออกเป็นงานเล็ก กว่านี้ก็ได้

การเลือกที่จะจำกัดเวลาในการทำทาส์กสักอย่างให้น้อย (เช่น ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อทาส์ก) แล้วก็ทิ้งจุดที่เหลือที่ยังทำยังไม่เสร็จไว้เป็น TODO ที่อาจจะกลับมาทำทีหลังระหว่างที่เราต้องไปทำอย่างอื่นที่สำคัญและเร่งด่วนกว่า บางครั้งอาจจะมีคนที่ยินดีพร้อมที่จะมาช่วยเราทำในส่วนนั้นต่อก็เป็นได้

การเลือกที่จะไม่ทำงานทั้งหมดให้เสร็จในทีเดียว สามารถช่วยให้เราแบ่งงานกันได้ดีขึ้น สามารถส่งงานต่อให้คนอื่นได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างงานที่แบ่งละเอียดจนมีคนช่วยกันทำได้ 5 คน

คอมโพเนนต์ ZoneSearchPanel เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะว่าผ่านมือมาประมาณ 5 มือ

คอมโพเนนต์นี้ ใช้สำหรับหาเขตเลือกตั้ง โดยผู้ใช้สามารถพิมพ์ชื่อจังหวัด ชื่อเขต หรือรหัสไปรษณีย์ เพื่อค้นหาเขตเลือกตั้งที่ต้องการดูข้อมูลได้

  • เริ่มจาก @heytitle ทำช่อง Search เวอร์ชั่นแรก ที่หาได้ตามชื่อตำบล/ชื่อเขต
    • แต่ยังหาด้วยชื่อจังหวัดและรหัสไปรษณีย์ไม่ได้ (#69)
      • @iboss-ptk ทำให้หาด้วยชื่อจังหวัดได้ และนำระบบ Fuzzy search มาใช้ (#83)
        • แต่ยังหาด้วยรหัสไปรษณีย์ไม่ได้ (#89)
          • @whs ทำให้หาด้วยรหัสไปรษณีย์ได้ (#162)
    • แต่เมื่อเลือกแล้วยังไม่ได้ลิงก์ไปหน้าเขตนั้น
      • @dtinth ทำให้ลิงก์ไปหน้าของเขตเลือกตั้งได้ (commit)
    • แต่หน้าตายังไม่เหมือนใน Design ซะทีเดียว (#77)
      • @gminemini ช่วยปรับ UI ให้ตรงตามที่ design (#80)

ความเจ๋งคือมีคนจากทุกระดับประสบการณ์มาช่วยกันทำ

  • น้องบางคนเพิ่งจบมาได้ไม่นาน และยังแทบไม่เคยเขียน React เลย ได้ฝึกใช้ React และฝึกทำงานกับคนอื่นโดยใช้ GitHub ผ่านโปรเจกต์นี้
  • อีกคนก็มีสกิลด้าน Process ข้อมูล เพื่อสร้าง Mapping ระหว่างรหัสไปรษณีย์และเขตการเลือกตั้ง
  • อีกคนก็รู้ไลบรารี่ที่ใช้สำหรับทำ Fuzzy search

ถ้าผมแบกคอมโพเนนต์นี้ไว้ทำคนเดียว คงเหนื่อย ใช้เวลานาน และคงไม่ออกมาดีแบบนี้ จะเห็นว่าการปล่อยงานที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ทิ้งไว้ก่อน อาจจะช่วยเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาลองร่วมพัฒนากับเราได้มากขึ้น